มหัศจรรย์อินเดีย กับ 8 เมืองสวยหลากสีแห่งราชสถาน

         

ราชสถาน(Rajasthan) หรือบางท่านอาจเรียกราชาสถาน เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ตั้งอยู่บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ราชสถานมีเมืองที่น่าสนใจมากมาย แต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ และเสน่ห์เฉพาะตัว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Rajasthan เป็นที่นิยมมากของนักท่องเที่ยวชาวไทย และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่หลั่งไหลมาเยี่ยมชมรัฐแห่งนี้เพื่อสัมผัสกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมอันงดงามของรัฐ 

ถ้าคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก อาจเริ่มต้นด้วยเมืองโตเกียว ราชสถาน(Rajasthan) ก็น่าจะเป็นจุดหมายต้นๆ ในช่วงเวลานี้ของคนที่เริ่มต้นไปเที่ยวอินเดียครั้งแรก การจะไปเที่ยวให้ทั่วราชสถาน มีเวลา 4-5 วันคงไม่พอ เพราะอย่างที่เขียนไว้ตอนต้นว่า Rajasthan เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวในแถบนี้ก็คงต้องวางแผนให้เหมาะสมกับเวลาที่มี หากมีเวลาน้อยก็ค่อยๆ เก็บเมืองที่อยากเที่ยวที่สุด หากมีเวลามาก ก็ไปให้ครบทุกเมืองที่อยากไป บทความท่องเที่ยวอินเดีย นี้ ฟรีเบิร์ด ทราเวิล แอนด์ ทัวร์ จะพาเพื่อนๆ ไปสำรวจความ มหัศจรรย์อินเดีย กับ 8 เมืองสวยหลากสีแห่งราชสถาน

     

1. Jaipur(จัยปูร์ หรือ ชัยปุระ) เมืองสีชมพู ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมอันงดงาม

jaipur-india-freebirdtour1

เมืองแรกที่ ฟรีเบิร์ดทัวร์ จะพาไปคือเมือง จัยปูร์ หรือชัยปุระ(Jaipur) เมืองแห่งสีสัน และวัฒนธรรม ชัยปุระ(Jaipur) เป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ เมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่องพระราชวัง และป้อมปราการที่สวยงาม รวมถึงตลาดที่เต็มไปด้วยความคึกคัก มีสีสัน และมีชีวิตชีวา และเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการสัมผัสวัฒนธรรมอินเดียแบบดั้งเดิม

ที่มาของคำว่า นครสีชมพู

จัยปูร์ หรือ ชัยปุระได้รับสมญานามว่า "นครสีชมพู" เนื่องจากอาคารบ้านเรือนในเมืองส่วนใหญ่ทาด้วยสีชมพูอ่อน อาคารต่างๆ ในชัยปุระ ทาด้วยสีชมพูเนื่องจากมีความเชื่อว่า สีชมพูเป็นสีที่สื่อถึงมิตรไมตรี และต้อนรับแขกผู้มาเยือน ดังนั้นจึงทาสีชมพูให้กับอาคารต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเต็มใจต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากทั่วโลก

ในปี ค.ศ.1876 มหาราชาสวาอี ราม สิงห์(Sawai Ram Singh) ผู้ปกครองเมืองชัยปุระในขณะนั้น ได้สั่งให้ทาสีอาคารบ้านเรือนในเมืองให้เป็นสีชมพูทั้งหมด เพื่อต้อนรับเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร) ที่เสด็จมาเยือนเมืองชัยปุระอย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ สีชมพูยังเป็นสีที่พบได้บ่อยในสถาปัตยกรรมของราชสถาน ราชสถานเป็นรัฐทางตะวันตกของอินเดียที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่โดดเด่น สีชมพูเป็นสีที่สื่อถึงความสง่างามและความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ชาวราชสถานภาคภูมิใจ อาคารสีชมพูจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองชัยปุระ 

ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้ออกกฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่าของชัยปุระให้คงสภาพเดิม รวมถึงรักษาสีชมพูแบบเดิมไว้ ส่งผลให้อาคารในชัยปุระยังคงเป็นสีชมพูสดใสและเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ชัยปุระ นับเป็นชัยภูมิที่ดีของการท่องเที่ยวอินเดีย เพราะตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมทองคำร่วมกับ เดลี(Delhi) และอัครา(Agra) เวลาเราวางโปรแกรมทัวร์เริ่มต้นที่ชัยปุระ  เราอาจจะควบเมืองอัครา(Agra) เข้าไปด้วย  และหากมีเวลามากขึ้น ก็อาจควบไปเดลี(Delhi) อีกเมืองเสียเลย   
jaipur-india-freebirdtour

ชัยปุระ(Jaipur) มีอะไรน่าเที่ยว ชัยปุระเป็นเมืองที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐราชสถาน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ต้องแวะไปเช็คอิน เช่น 

1.1 พระราชวังแห่งสายลม(Hawa Mahal)  สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยมหาราชาสะหวาย ประธาป สิงห์(Maharaja Sawai Pratap Singh) หลานชายของผู้ก่อตั้งชัยปุระ และได้รับการออกแบบขึ้นมาโดยสถาปนิกชื่อ ชันด์ อุสถัด(Lal Chand Ustad) ตั้งอยู่ใจกลางชัยปุระ เป็นศิลปะของสถาปัตยกรรมราชบัต(Rajput) สถาปัตยกรรมของ Hawa Mahal มีความมหัศรรย์น่าทึ่งถอดแบบมาจากรูปทรงมงกุฏของพระนารายณ์ ด้านหน้าของพระราชวังเป็นหน้าบันมีลักษณะคล้ายรังผึ้งมีความสูง 5 ชั้น สร้างจากหินทรายสีชมพู มีช่องหน้าต่างมากถึง 953 บาน ช่องหน้าต่างแต่ละบานจะฉลุเป็นลวดลายเล็กๆ อย่างปราณีต  เป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของพระราชวังสายลม หน้าต่างเหล่านี้เรียกว่า "jharokhas" ความสำคัญของหน้าต่างไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบด้านสุนทรียภาพเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในทางปฏิบัติอีกด้วย คือ ทำให้นางในฮาเร็มพระสนมที่อยู่ด้านในสามารถมองผ่านข้างในมาด้านนอกได้ แต่คนจากทางด้านนอกจะไม่สามารถมองผ่านเข้ามาด้านในได้ และที่สำคัญด้วยลักษณะการสร้างแบบนี้ทำให้เกิดช่องแสง และช่องลม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “พระราชวังแห่งสายลม”

hawa mahal jaipur-india-freebirdtour

การตกแต่งภายในของ Hawa Mahal นั้นมีเสน่ห์ไม่น้อยไปกว่าด้านนอก ชั้นบนของพระราชวังมีห้องหลายห้องที่เชื่อมต่อถึงกัน ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใส งานหินอ่อนที่ประณีต และรายละเอียดปิดทองอันละเอียดอ่อน ลานกลางพร้อมน้ำพุทำให้พระราชวังอันเงียบสงบดูมีชีวิตชีวา

hawa mahal jaipur-india-freebirdtour

ฮาวามาฮาลไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น มันยังเป็นสัญลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานของชัยปุระ และมรดกอันยาวนานของความฉลาดทางสถาปัตยกรรม ปัจจุบัน ฮาวามาฮาลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้แวะมาที่นี่ นับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่อาจขึ้นไปนั่งจิบชาที่ดาดฟ้าของร้านฝั่งตรงข้าม ถ่ายรูป ให้พระราชวังแห่งสายลมนี้เป็นฉากหลัง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

 

1.2 พระราชวังซิตี้พาเลซ(City Palace) หรือที่รู้จักกันในนาม “พระราชวังหลวง” พระราชวังหลวงของราชวงศ์ราชปุต ตั้งอยู่บริเวณถนนฮาวา มาฮาลบาซ่าร์(Hawa Mahal Bazar) ใจกลางเมืองชัยปุระ สร้างขึ้น โดยมหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2(Maharaja Sawai Jai Singh II) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ชัยปุระ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง และปกครองเมืองชัยปุระตั้งแต่ปี 1699-1743 การก่อสร้างพระราชวังเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1729 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1732 พระราชวังแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมราชปุต(Rajput) และโมกุล สร้างขึ้นจากหินทรายสีแดง และสีชมพู 

jaipur-india-freebirdtour-citypalace

พระราชวังซิตี้พาเลซเป็นอาคารขนาดใหญ่ และซับซ้อน มีลานกว้างใหญ่ล้อมรอบด้วยพระราชวังเล็กๆ ที่มีซุ้มโค้งเล็กๆ หลายแห่ง พระราชวังเล็กๆ เหล่านี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง สวนหลายแห่ง City Palace มีประตูทางเข้าอยู่ 3 ประตู คือ Virendra Pol, Udai Pol และประตู Tripolia

ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนหนึ่งของ ซิตี้ พาเลซ(City Palace) ยังคงเป็นที่ประทับของผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์คัชวาฮา(Kachwaha Dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองของรัฐชัยปุระในอดีต  และแบ่งพื้นที่บางส่วนให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ รวมทั้งยังมีในส่วนที่เป็นโรงแรมที่พัก   พื้นที่หลักๆใน City Palace ประกอบด้วย

1.2.1 Mubarak Mahal(มูบารัค มาฮาล) หรือพระราชวังแห่งการต้อนรับ มูบารัค มาฮาล เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมหาราชา Madho Singh II ในอดีตอาคารนี้ มีไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่สำคัญ ชั้นหนึ่งของ Mubarak Mahal เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ และเครื่องแต่งกายของราชวงศ์ ชั้นสอง จัดแสดงคอลเลกชันรถม้าของราชวงศ์ รวมถึงรถม้าที่มหาราชาใช้ในพิธีการอย่างเป็นทางการ มีพิพิธภัณฑ์อาวุธและอาวุธยุทโธปกรณ์ อาคารนี้สามารถถ่ายรูปได้เฉพาะด้านนอก ด้านในห้ามถ่ายรูป

 mubarak-mahal city palace

1.2.2 The Chandra Mahal จันทรา มาฮาล หรือรู้จักกันดีในชื่อของ Chandra Niwas(จันทรานิวาส) สร้างขึ้น โดย มหาราชา Jai Singh II กษัตริย์ราชวงศ์ Kachwaha จันทรา มาฮาล เป็นอาคารพระราชวังหลัก ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังซิตี้ มีประตูนกยูง(Peacock Gate) ขนาดใหญ่อยู่ที่ทางเข้า มีโครงสร้าง 7 ชั้น ทุกชั้นมีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และตกแต่งด้วยงานแกะสลัก ภาพวาด และกระจกที่สวยงาม ที่นี่ประกอบด้วยห้องโถง ห้องประชุม และห้องส่วนตัว โดยเปิดบางส่วนให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ณ ที่นี่เราจะได้มองเห็นธงประจำราชวงศ์อยู่บนยอดจันทรามาฮาล ธงนี้จะคลี่ออกเมื่อมหาราชาประทับอยู่ในพระราชวัง

jaipur-india-freebirdtour-chandra-mahal

อาคารภายนอกมีความสวยงามทำจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน การตกแต่งภายในของจันทรามาฮาลก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน เนื่องจากมีงานแกะสลัก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และโคมไฟระย้าอันหรูหรา แต่ละชั้นได้รับการตั้งชื่อเฉพาะ เช่น Pitam-Niwas(ปิทัมนิวาส), Sukh-Niwas(สุขนิวาส),  Ranga-Mandi(รังกามันดีร์) ห้องสีเงิน,   Mukut Mahal(มูกุตมาฮาล), Shri-Niwas(ศรีนิวาส) และChhavi-Niwas(ฉฮาวีนิวาส) ห้องสีฟ้า ชื่อต่างๆ เหล่านี้ อาจถูกเรียกไม่เหมือนกัน แล้วแต่แหล่งข้อมูล จุดที่ได้รับความนิยมมากๆ ในอาคารหลังนี้ ก็คือ

Chhavi-Niwas(ฉฮาวีนิวาส) รู้จักกันดีในนามห้องสีฟ้า หรือห้องสีน้ำเงิน(Blue Room) ห้องนี้มีลวดลายสีขาวอ่อนช้อยกระจายทั่วทั้งผนังสีฟ้า เพดานสีฟ้า รวมไปถึงต้นเสา ส่วนพื้นเป็นหินอ่อนขัดเงา ห้องสีฟ้าใน City Palace มักปรากฏอวดตัวสวยอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นที่เชื้อเชิญให้เราแวะมาที่นี่ ห้องสีฟ้านี้ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของ The Chandra Mahal  นอกจากความสวยงาม สบายตา และถ่ายรูปด้านในได้สวยแล้ว ด้านนอกท่านยังจะได้เห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมือง Jaipur และ Aravalli Hills โดยรอบ เทือกเขานี้มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์ป่า มีป่าไม้ ป่าละเมาะ และทุ่งหญ้าหลายแห่ง เทือกเขายังเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่ง 

jaipur-india-freebirdtour-chhavi-niwas

Shobha Niwas ห้องกระจกสีทอง เป็นอีกหนึ่งห้องที่พลาดไม่ได้ ห้องนี้ตั้งอยู่บนชั้น 4 ของ Chandra Mahal เป็นห้องบัลลังก์ที่ประดับด้วยกระจกสีแดง เขียว และเหลืองอำพัน พร้อมด้วยกระจก เงาและเครื่องลายครามฝังด้วยปูนปลาสเตอร์สีทอง เราสามารถไปนั่งถ่ายรูปบนพื้นพรมสีแดง เอาแขนพิงหมอน วางท่าทางให้สง่างาม ได้อย่างเพลิดเพลิน

jaipur-india-freebirdtour9-shobha-niwas

Ranga-Mandi(รังกามันดีร์) หรือ Sheesh Mahal หรือเรียกอีกชื่อว่า Mirror Palace รังมณเฑียร ห้องสีเงิน ตั้งอยู่บนชั้น 2 เป็นอีกหนึ่งห้องที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ผนัง และเพดานที่ประดับด้วยกระจกสวยงามน่าทึ่ง สะท้อนภาพลานตา ให้ความหรูหราไปอีกแบบ

การจะเข้าชมห้องต่างๆ ใน Chandra Mahal นักท่องเที่ยวต้องซื้อตั๋วแบบ ROYAL SPLENDOUR  ซึ่งจะสามารถเข้าชมห้อง Sri Niwas, Chhavi Niwas, Shobha Niwas, Pritam Niwas และ Sarvato Roof ได้ ตั๋วแบบนี้เมื่อซื้อแล้วจะมีไกด์ 1 คน พาเราเดินเที่ยว อธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง โดยเราไม่สามารถเดินเที่ยวเองได้ หลังจากที่เดินครบ ไกด์จะพาเราออกมาส่งตรงที่เป็นเหมือนคาเฟ่ และจะมีน้ำให้เราเลือกดื่ม 1 อย่าง ราคาค่าเข้าต้องเช็คอีกครั้งก่อนไป เพราะราคามีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ แต่บอกเลยว่าราคาไม่ถูกนะคะ ประมาณ 4,000 รูปี คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2,000 บาท คุ้มหรือไม่ก็แล้วแต่สะดวก แต่สำหรับเราคิดว่าไหนๆ ไปแล้ว ก็อยากไปให้สุด 

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการเข้าในห้องต่างๆ    ของ  Chandra Mahal ก็ให้ซื้อตั๋วแบบ COMPOSITE จะเป็นตั๋วที่สามารถเข้าได้เพียงบางส่วนของพระราชวัง และสามารถเข้ามาในส่วนที่เป็นลานของ Chandra Mahal ได้  ตั๋วแบบ COMPOSITE ไม่ต้องมีไกด์ สามารถเดินเที่ยวได้เอง  ราคาค่าตั๋วของนักท่องเที่ยวจะมีราคาแพงกว่าคนท้องถิ่น

Chandra Mahal(จันทรา มาฮาล) ยังคงเป็นที่ประทับหลักของราชวงศ์ ด้านบนสุดคือศาลา Mukut Mandir ซึ่งจะมีธงชัยปุระ คลี่ประดับอยู่ และแสดงให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ว่า ณ ขณะนั้นมีราชวงศ์ประทับอยู่หรือไม่

 jaipur-india-freebirdtour-ranga-mandi

1.2.3 Pritam Niwas Chowk ส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับ Chandra Mahal(จันทรา มาฮาล) เพราะเป็นประตูที่จะพาเราไปสู่ Chandra Mahal นั่นเอง ประตูนี้ทำจากปูนปั้น ทาสี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของราชปุต(Rajput) และ โมกุล(Mughal) ผสมผสานกันอย่างสวยงาม แม้จะเป็นประตูไปสู่ Chandra Mahal  แต่ก็เป็นส่วนที่ห้ามพลาด  เพราะเป็นหนึ่งในไฮไลท์ประจำพระราชวัง City Palace ในอดีตตรงนี้เป็นลานที่ใช้สำหรับการแสดงของนางรำ ที่นี่มีประตูที่นักท่องเที่ยวต้องเช็คอิน  จำนวน 4 บาน เชื่อกันว่าประตูเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเป็นสัญลักษณ์ของ 4 ฤดูกาล  และเทพเจ้าในศาสนาฮินดู 4 องค์ ได้แก่ พระวิษณุ พระศิวะ พระแม่ปาราวตี และพระพิฆเนศ

ประตูนกยูง(Peacock Gate) สัญลักษณ์แทนฤดูฝน ตัวแทนพระวิษณุ

ประตูดอกบัว(Lotus Gate) ญลักษณ์แทนฤดูร้อน ตัวแทนพระศิวะ

ประตูกุหลาบ(Rose Gate) สัญลักษณ์แทนฤดูหนาว ตัวแทนพระแม่ปารวดี

ประตูสีเขียว(Leheriya Gate / Wave Gate) สัญลักษณ์แทนฤดูใบไม้ผลิ ตัวแทนพระพิฆเนศ Leheriya แปลว่า "คลื่น" ในภาษา Rajasthani เป็นรูปแบบการย้อมแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยลวดลายคล้ายคลื่นอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยการคัดเลือกมัด  และย้อมผ้า เลเฮริยาเป็นรูปแบบศิลปะที่มีชีวิตชีวาและมีสีสันที่ปฏิบัติกันมานานหลายศตวรรษ และเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับเสื้อผ้าแบบราชสถานแบบดั้งเดิม บริเวณนี้ แค่รอถ่ายรูปกับประตูทั้ง 4 บาน ก็กินเวลานานโข  เพราะมันสวยจนอยากถ่ายไปเรื่อยๆ

 

1.2.4 Diwan-i-Khas(ดีวันอีคาส) เป็นหนึ่งในอาคารที่ห้ามพลาดของ City Palace จุดเด่นของส่วนนี้ คือ ภาชนะสีเงินรูปร่างเหมือนเหยือกขนาดใหญ่ จำนวน 2 ใบ รู้จักกันในชื่อ Gangajalis หรือ Silver Jar สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยมหาราชา Sawai Pratap Singh Gangajalis มีความสูง 5.3 ฟุต และมีน้ำหนักต่อ 345 กิโลกรัม ภาชนะแต่ละชิ้นถูกสร้างจากเหรียญเงินที่หลอมละลายจำนวน 14,000 เหรียญ นับเป็นเหยือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้รับการรับรองจาก Guinnes Book of World Records และที่นี่ยังมีเก้าอี้หินอ่อนสี่ตัวที่วางอยู่ที่มุมห้องโถง กล่าวกันว่าเก้าอี้เหล่านี้ถูกใช้โดยมหาราชาและราชินีทั้งสามของพระองค์ ผนังของห้องโถงนี้บรรจุภาพวาดขนาดเท่าจริงของมหาราชาแห่งชัยปุระ ข้อความโบราณ ภาพวาด พรมปัก และต้นฉบับต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของพระคัมภีร์ฮินดู

 

1.2.5 Diwan-i-Aam(Hall of Public Audience) อาคารนี้จะเป็นส่วนที่จัดแสดงภาพวาด และประวัติของมหาราชา แต่ละพระองค์ รวมทั้งภาพวิถีชีวิตชาวเมืองชัยปุระ อาคารหลังนี้อยู่ใกล้กับอาคาร Diwan-i-Khas

 

1.2.6 Rajendra Pol เป็นหนึ่งในประตูทางเข้าที่สำคัญของ City Palace "Pol" ในภาษาอินเดีย หมายถึง "ประตู" Rajendra Pol  จึงหมายถึง ประตูที่ชื่อ Rajendra ส่วนชื่อนี้เป็นชื่อของใครนั้นก็ไม่มั่นใจ บ้างก็ว่าต้องเป็นชื่อของบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับ city palace อย่างแน่นอน Rajendra Pol เป็นประตูที่มีความโดดเด่น และมีขนาดใหญ่ที่สุดใน City Palace สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดย Maharaja Sawai Jai Singh II ประดับด้วยงานแกะสลักหินทรายสีชมพู และสีแดง มีรูปปั้นทหารยามยืนเฝ้าอยู่สองข้างประตู Rajendra Pol เคยใช้เป็นทางเข้าหลักของพระราชวังสำหรับขุนนาง และแขกผู้มาเยือน ปัจจุบันเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ประตูนี้ยังได้รับความนิยมเพราะมักปรากฏตัวในภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์หลายเรื่อง

นอกจากนี้ พระราชวังซิตี้พาเลซยังมีสวนหลายแห่งที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น สวนโมฮัลล่า(Mahal Garden) เป็นสวนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารโมฮัลล่า, สวนมุขมาฮาล(Muk Mahal Garden) เป็นสวนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารมุขมาฮาล, สวนมุกธาบา (Mukthaba Garden) เป็นสวนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารมุกธาบา

ความปลอดภัยและการบำรุงรักษาอาคารพระราชวังซิตี้(City Palace) ทั้งหมดอยู่ภายใต้ราชวงศ์ชัยปุระ ไม่ใช่รัฐบาลอินเดีย

 

1.3 ป้อมแอมเบอร์(Amber Fort) เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของชัยปุระ สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยมหาราชามาน ซิงห์ที่ 1 ผสมผสานสถาปัตยกรรมฮินดูและโมกุลเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ป้อมแอมเบอร์เป็นที่ตั้งของพระราชวัง วัด และสวนหลายแห่ง  ตัวป้อมตั้งอยู่บนเนินเขามองเห็นวิวเมืองชัยปุระซึ่งเป็นทัศนียภาพอันสวยงาม   Amber Fort ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก(UNESCO) หรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เมื่อปี ค.ศ.2013 การจะขึ้นไปเที่ยวยังป้อมแห่งนี้ทำได้ด้วย 3 วิธี จากทางขึ้น คือ เดินเท้า ซึ่งสามารถทำได้ไม่ได้ลำบากอะไร เดินเล่นพูดคุยกันไปเรื่อยๆ ก็ถึงแล้ว หรือถ้าไม่อยากเดิน ด้านล่างก็มีบริการรถจิ๊ปก็สะดวกสำหรับคนไม่ชอบเดิน หรือบางท่านอยากสัมผัสประสบการณ์ของการนั่งช้างก็ได้เช่นกัน แต่สำหรับเราแล้วเดินเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่อยากเสียเงินค่ารถ ไม่อยากนั่งอยู่บนหลังช้าง และระยะทางของการเดินก็ไม่ได้ไกล หรือลำบากอะไรเลย

1.4 จันตาร์มันตาร์(Jantar Mantar) เป็นหอดูดาวโบราณที่สร้างขึ้นโดยมหาราชาสะหวาย ชัยสิงห์ที่ 2 ประกอบด้วยเครื่องมือทางดาราศาสตร์โบราณกว่า 17 แห่ง แต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น การคำนวณตำแหน่งดาวฤกษ์ คำนวณเวลา คำนวณฤดูกาล และอื่นๆ

1.5 Albert Hall Museum(พิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ต ฮอลล์) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมสิ่งประดิษฐ์ และมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานของรัฐราชสถาน ไม่ว่าจะเป็น โบราณคดี สิ่งประดิษฐ์จากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ยุคโมกุล และอาณาจักรราชบัต ศิลปะและจิตรกรรม ภาพวาดขนาดจิ๋ว ประติมากรรม สัมฤทธิ์ และงานศิลปะอื่นๆ จากราชสถาน และส่วนอื่นๆ ของอินเดีย พรม และสิ่งทอ และผ้าอื่นๆ จากราชสถานและส่วนอื่นๆ ของอินเดีย

 

1.6 Chand Baori(ชาน เบารี)  บ่อน้ำขั้นบันได(Step Well)

Chand Baori ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Abhaneri ในรัฐราชสถาน เป็นหนึ่งในบ่อน้ำขั้นบันไดที่มีชื่อเสียงของอินเดีย และมีเอกลักษณ์ที่สุดในอินเดีย สิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อกว่าพันปีก่อนในศตวรรษที่ 9 มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบที่ซับซ้อนและความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ในอดีต Chand Baori มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเก็บกักน้ำ ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อนที่มีแสงแดดแผดเผา

ด้วยความสูง 13 ชั้น มีบันได 3,500 ขั้น มีความสูงถึง 64 ฟุต บ่อน้ำขั้นบันไดจึงเป็นที่หลบภัยที่ร่มเงา และเย็นสบายจากแสงแดดอันแรงกล้า

การออกแบบบ่อขั้นบันไดที่สมมาตร พร้อมด้วยลวดลายเรขาคณิต และการแกะสลักอันประณีต นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม และเป็นข้อพิสูจน์ถึงฝีมือของผู้สร้างบ่อน้ำแห่งนี้ ด้านล่างของบ่อน้ำมีวัดฮินดูที่อุทิศให้กับ Harshat Mata 

ด้วยความงาม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ปัจจุบัน Chand Baori ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และเป็นที่หมายปองของผู้สร้างภาพยนตร์ และช่างภาพอีกด้วย

1.7 Patrika Gate

ประตู Patrika ประตูปาตริกาในชัยปุระ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.2016 เป็นประตูที่ 9 ของเมืองชัยปุระ แม้จะมีอายุน้อย แต่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างรวดเร็ว และเป็นสัญลักษณ์สมัยใหม่ที่สำคัญของชัยปุระ
 
 
สถาปัตยกรรมของประตู Patrika ผสมผสานองค์ประกอบดั้งเดิมของราชสถานเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ สร้างจากหินทรายสีแดง  แต่ละประตู ถูกวาดลวดลายไว้อย่างสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวของรัฐราชาสถานผ่านผนัง และเพดานที่วาดด้วยมือ เสาแต่ละต้นแสดงถึงฉากจากภูมิภาคต่างๆ ของรัฐราชสถาน เราจะได้เห็นมรดกทางสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมอันยาวนานของรัฐ 
 
Patrika Gate อาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลัก ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชัยปุระ  แต่หากมีเวลาก็อยากให้แวะมา การเที่ยว Patrika Gate ใช้เวลาไม่มาก มาที่นี่นักท่องเที่ยวจะค่อยๆ ละเลียดกับศิลปะที่อวดความงามอยู่ตามประตู และยังเพลิดเพลิน กับการถ่ายรูป รับรองได้เลยว่าสวยงามจริงๆ แต่หากมีเวลาน้อย ก็คงต้องข้ามสถานที่นี้ไป เพราะมาที่นี่ก็เน้นมาถ่ายรูปกับ ประตู Patrika เท่านั้นเอง
 
 
 

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากในชัยปุระ เช่น พระราชวังกลางน้ำ(Jal Mahal), ป้อมนาหรครห์(Nahargarh Fort), สวนสาธารณะโมติ มาฮาล(Moti Mahal Garden), ตลาดกลาง(Chokhi Dhani), พิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ต ฮอลล์(Albert Hall Museum) 

ท่านสามารถวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในชัยปุระได้ตามความสนใจของของแต่ละท่าน ไม่ว่าจะสนใจประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติ หรือShopping ชัยปุระก็มีทุกสิ่งที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

 

2. Udaipur(อุดัยปูร์ หรืออุทัยปุระ) City of Lake ไข่มุกแห่งทะเลสาบ มรดกโลกแห่งอินเดีย

ฟรีเบิร์ดทัวร์ พาหลบหนีจากความวุ่นวายในเมือง มาสัมผัสความงามอันสงบของ Udaipur เมืองนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เมืองที่ได้รับสมญานามว่า City of Lakes หรือ "เมืองแห่งทะเลสาบ" เนื่องจากมีทะเลสาบขนาดใหญ่ถึง 3 ทะเลสาบ ได้แก่ ทะเลสาบ Pichola, ทะเลสาบ Fateh Sagar และทะเลสาบ Sukh Sagar

Udaipur เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจมากมาย เริ่มจากสถาปัตยกรรมอันงดงามของเมืองที่ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบราชสถาน และศิลปะแบบยุโรป โดดเด่นด้วยอาคารสีชมพูสดใสที่ประดับประดาด้วยลวดลายวิจิตรบรรจง ผสานกับวัฒนธรรม และธรรมชาติ ได้อย่างลงตัว สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ Udaipur เช่น

2.1 City Palace of Udaipur

ซิตี้พาเลซ(City Palace) พระราชวังประจำเมือง สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยมหารานา อุทัย ซิงห์ ที่ 2(Maharana Udai Singh II) แห่งตระกูลสิโสเดีย(Sisodia)   ผู้ก่อตั้งเมืองอุทัยปุระ

 

ซิตี้พาเลซ(City Palace) ของอุทัยปุระ นับเป็นพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในรัฐราชสถาน มีความหรูหราสวยงาม รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีการผสมผสานกันตามความชอบหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน รวมถึงอิทธิพลของราชปุต โมกุล และยุโรป ด้านในมีลานกว้าง สวน ห้องต่างๆ และพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสถาปัตยกรรมอันวิจิตรบรรจง วัตถุโบราณของราชวงศ์ และศิลปะของราชสถาน จุดที่เที่ยวใน city palace เช่น Badi Mahal(บาดี มาฮาล) ส่วนนี้คือวังที่อยู่อาศัยหลักของผู้ปกครอง Mewar และมีลานภายในที่สวยงาม ผนังทาสีอย่างประณีต และระเบียงที่หรูหรา

City Palace of Udaipur มีทำเลที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ทำให้มองเห็นเห็นทะเลสาบ Pichola(ทะเลสาบพิโชล่า) และวิวทิวทัศน์ในมุมกว้างของเมืองได้อย่างสวยงาม รวมทั้งมองเห็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งสถานที่เหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวัง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในอุทัยปุระ และยังมีเทือกเขา Aravali เพิ่มให้เมืองอุทัยปุระ มีเสน่ห์มากขึ้น

2.2 Lake Pichola(ทะเลสาบพิโชล่า)

แม้ว่าในเมืองอุทัยปุระ(Udaipur) จะมีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่ถึง 3 ทะเลสาบ จนได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งทะเลสาบ หรือไข่มุกแห่งทะเลสาบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทะเสสาบ Pichola เป็นทะเลสาบที่มีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมือง

ทะเลสาบพิโชลา(Pichola) เป็นทะเลสาบน้ำจืดเทียม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุทัยปุระ  สร้างขึ้นในปี 1362 โดยตั้งชื่อตามหมู่บ้าน Picholi 

ตรงทะเลสาบมีเกาะอยู่ 4 เกาะ คือ Jag Niwas เกาะนี้เป็นที่ตั้งของพระราชวังริมทะเลสาบ, Jag Mandir เป็นที่ตั้งของพระราชวังJag Mandir, Mohan Mandir เป็นที่ที่กษัตริย์จะใช้ชมการเฉลิมฉลองเทศกาล Gangaur ประจำปี และสุดท้าย Arsi Vilas เป็นเกาะเล็กๆ ที่เป็นคลังอาวุธ

กิจกรรมที่น่าสนใจเมื่อมาถึงทะเลสาบพิโชลา(Pichola) นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการนั่งเรือล่องไปในทะเลสาบเพื่อชื่นชมบรรยากาศสองฝั่ง ทั้งในช่วงเวลาปกติ และช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้ตกก็งดงามไปอีกแบบ หรือจะใช้เวลาละเลียดกับอาหารท้องถิ่นตามร้านอาหารแถวนั้นก็ดีไม่แพ้กัน

2.3 Jag Mandir Palace(พระราชวังจักมันเดียร์) 

พระราชวัง Jag Mandir หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "Lake Garden Palace" นับเป็นอัญมณีแห่งทะเลสาบ Pichola เป็นพระราชวังที่สวยงามตั้งอยู่บนเกาะใจกลางทะเลสาบ Pichola ใน Udaipur  พระราชวังเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1551  โดยมหารานา อมาร์ ซิงห์(Maharana Amar) จากนั้นถูกสร้างต่อมาโดย มหารานา การรัน ซิงห์(Maharana Karan Singh) และมหารานา จากัต ซิงห์ ที่ 1(Maharana Jagat Singh I)  มาแล้วเสร็จในปี 1652 ในอดีต พระราชวัง Jag Mandir ใช้เป็นสถารที่พักผ่อนในช่วงฤดูร้อนของราชวงศ์ และสำหรับสังสรรค์ของราชวงศ์ ปัจจุบัน Jag Mandir หรือ Lake Garden Palace กลายเป็นโรงแรมหรู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม  และนับเป็นพระราชวังที่แสดงถึงมรดกทางวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมอันมั่งคั่งของรัฐราชสถาน

2.4 Jagdish Temple

Jagdish Temple เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมใน Udaipur เพราะเป็นวัดที่มีความสำคัญทางศาสนาฮินดู ในอดีตวัดนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า Jagannath Rai สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1651 โดยมหารานา จากัต ซิงห์(Jagat Singh) ที่อุทิศให้กับพระวิษณุ ผู้ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์หลักของศาสนาฮินดู มีความสวยงามของสถาปัตยกรรม มีงานแกะสลักที่สวยงาม  Jagdish Temple เดินไม่ไกลจากพระราชวัง City Palace of Udaipur

ในเมือง Udaipur(อุดัยปูร์ หรืออุทัยปุระ) ก็ยังเป็นที่รวมของสถานที่ท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น Saheliyon Ki Bari, Sajjangarh (Monsoon Palace), Fateh Sagar Lake, Shilpgram Craft Village, Bagore Ki Haveli


3. Jodhpur(จ๊อดปูร์) เมืองสีฟ้าแห่งอินเดีย มนต์เสน่ห์ที่สะกดทุกสายตา

Jodhpur ได้รับสมญานามว่า "นครสีฟ้า" เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของรัฐราชสถาน และของประเทศอินเดีย จุดเด่นของเมืองก็ด้วยอาคารบ้านเรือนที่ทาสีฟ้าทั้งเมือง ตัดกับท้องฟ้าสีครามสดใส สวยงามราวกับภาพวาดในเทพนิยายอย่างไรอย่างนั้นทีเดียว สาเหตุที่เมือง Jodhpur ทาสีฟ้าทั้งเมือง ก็มาจาก

ความเชื่อทางศาสนา ชาวอินเดียในศาสนาฮินดูเชื่อว่า สีฟ้าเป็นสีของท้องฟ้าและทะเล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าและพลังแห่งการปกป้องคุ้มครอง ดังนั้น ชาวอินเดียในวรรณะพราหมณ์ซึ่งเป็นวรรณะสูงสุดในสังคมอินเดียจึงมักทาสีบ้านเรือนของตนเป็นสีฟ้า เพื่อแสดงถึงความศรัทธาในศาสนาฮินดูและเพื่อปกป้องคุ้มครองครอบครัวของตนจากสิ่งชั่วร้าย

และเนื่องจากสีฟ้าเป็นสีที่สะท้อนแสงแดดได้ดี จึงช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดได้ ทำให้บ้านเรือนเย็นสบายและช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้ นอกจากนี้ สีฟ้ายังช่วยป้องกันแมลงสาบและยุงได้อีกด้วย

ในอดีต เมือง Jodhpur เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เมห์รา(Mehrangarh) ในช่วงศตวรรษที่ 15 กษัตริย์เมห์ราแห่งราชวงศ์เมห์ราได้ออกคำสั่งให้ทาสีบ้านเรือนในย่านเมืองเก่าให้เป็นสีฟ้าทั้งหมด เพื่อให้เมือง Jodhpur กลายเป็นเมืองที่โดดเด่นและสวยงาม นอกจากนี้ กษัตริย์เมห์รายังเชื่อว่าสีฟ้าจะช่วยปกป้องเมือง Jodhpur จากภัยพิบัติต่างๆ ได้อีกด้วย

ปัจจุบัน เมือง Jodhpur ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเมืองสีฟ้าเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศอินเดีย ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของเมืองสีฟ้าแห่งนี้ จ๊อดปูร์(Jodhpur) มีอะไรน่าเที่ยว  ตามฟรีเบิร์ด ทราเวิล แอนด์ ทัวร์ ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเมืองจ๊อดปูร์  กัน

 

3.1 ป้อมเมห์รานการ์ห(Mehrangarh Fort) 

หรือรู้จักกันดีในชื่อของ "Fort of the Sun" หมายถึงป้อมแห่งดวงอาทิตย์ ป้อมปราการอันยิ่งใหญ่ที่สูงตระหง่านเหนือเมืองจ๊อดปูร์ มองเห็นวิวทิวทัศน์อันงดงามของเมืองได้แบบพาโนรามา นับเป็นป้อมปราการที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอินเดีย ที่นี่เป็นทั้งป้อมปราการ และเป็นทั้งราชวัง สถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานกันของสถาปัตยกรรมแบบราชปุต และโมกุล ด้านในมีลวดลายแกะสลักสวยงาม ป้อมเมห์รานการ์ห มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะผ่านการสู้รบ  และการถูกล้อมหลายครั้ง การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1459 โดย Rao Jodha ผู้ก่อตั้ง จ๊อดปูร์(Jodhpur) 

ภายในป้อมปราการแห่งนี้ ประกอบไปด้วย พระราชวัง พิพิธภัณฑ์ รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้เราได้รู้จักเมืองนี้ได้มากขึ้น  แม้แต่ของใช้เด็กก็ยังมีเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  รวมไปถึงสวนต่างๆ แต่ละแห่งจัดแสดงสถาปัตยกรรมที่หรูหราและสิ่งประดิษฐ์ของราชวงศ์ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงคอลเลกชันอาวุธ ภาพวาด เกี้ยว สิ่งทอ และสิ่งของทางประวัติศาสตร์อื่นๆ

การจะขึ้นไปยังป้อมเมห์รานการ์ห(Mehrangarh Fort) สามารถเดินเท้า หรือขึ้นลิฟท์ก็ตามสะดวก แม้จะเดินทางเดินก็ไม่ได้ลำบากเดินไป แวะถ่ายรูปชมวิว กินบรรยากาศไปเรื่อยๆ  และหากมีเวลา การได้ชมวิวเมืองยามพระอาทิตย์ตกจากป้อมเมห์รานการ์ห(Mehrangarh Fort) ก็เป็นความสุดวิเศษของการที่ได้มาเที่ยวยังเมืองจ๊อดปูร์(Jodhpur) 

 

3.2 พระราชวังพระราชวังอูเมดบาห์วัน(Umaid Bhawan Palace)

พระราชวังอูเมดบาห์วัน(Umaid Bhawan) ตั้งอยู่บนเนินเขา Chittar ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดในจ๊อดปูร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทิวทัศน์ที่แปลกตาของเมืองสีฟ้าทางประวัติศาสตร์ มีเนินทรายที่กว้างใหญ่ มีป้อม Mehrangarh ที่ยิ่งใหญ่ 

Umaid Bhawan สร้างขึ้นระหว่างปี 1928 ถึง 1943 พระราชวังแห่งนี้นับเป็นมรดกอันล้ำค่าของรัฐราชสถาน และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองจ๊อดปูร์ ในอดีตที่นี่เป็นที่พำนักของราชวงศ์จ๊อดปูร์ ปัจจุบันก็ยังมีราชวงศ์พำนักอยู่ที่นี่ และมีพื้นที่บางส่วนแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งโรงแรมหรูให้บริการห้องพัก และห้องสวีทสไตล์อาร์ตเดโค จำนวน 70 ห้อง มีห้องอาหาร Risala ห้องอาหารที่จะทำให้คุณได้ลิ้มรสอาหารอินเดียแท้ๆ  และหากอยากจะทานอาหารยุโรป และเมดิเตอร์เรเนียน ก็มีห้องอาหาร Pillars ไว้รองรับ ที่นี่ก็ยังมีโซนบาร์ Trophy Bar ไว้ให้บริการสำหรับคนที่อยากใช้เวลาจิบเครื่องดื่มตามชอบ ถึงไม่ได้เข้าพักในโรงแรมนี้ ก็สามารถมาใช้บริการห้องอาหารได้ เช่นกัน

สำหรับใครที่มาพักในโซนโรงแรมแห่งนี้ การได้เดินเล่นภายในโรงแรม ชมบรรยากาศของวัง สัมผัสกับสถาปัตยกรรม ก็ทำให้อดจินตนาการไม่ได้ว่านี่เราเป็นเจ้าของวังหรือเปล่านะ

 

3.3 Jaswant Thada

Jaswant Thada(จัสวัน ธาดา) เป็น อนุสาวรีย์สีขาวสร้างจากหินอ่อน Makrana ที่แกะสลักอย่างประณีตสวยงาม สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1899 โดย มหาราชา ซาร์ดาร์ ซิงห์ (Maharaja Sardar Singh)  เพื่อรำลึกถึงมหาราชาจัสวันต์ ซิงห์ที่ 2(Maharaja Jaswant Singh II) ซึ่งเป็นพระบิดาของเขา Jaswant Thada ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่เผาศพสำหรับราชวงศ์ราชบัตแห่งมาร์วาร์( Royal Rajput Family of Marwar) อีกด้วย

แผ่นหินอ่อนที่ใช้ในการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้บางมาก มีการขัดเงาเมื่อแสงสว่างจะดวงอาทิตย์มาประทะจะให้อารมณ์อบอุ่นเป็นอย่างมาก โดมของอนุสาวรีย์ประดับด้วยรูปครุฑนกอินทรีของพระวิษณุปิดทอง บริเวณอนุสาวรีย์มีศาลาแกะสลัก สวนฉัตร และทะเลสาบขนาดเล็ก ที่นี่ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงภาพเหมือนของผู้ปกครองของ Jodhpur และสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ Marwar Jaswant Thada(จัสวัน ธาดา) ตั้งอยู่ใกล้กับ ป้อมเมห์รานการ์ห(Mehrangarh Fort) แบบมองเห็นถึงกัน

 

 

ย่านเมืองเก่า(Old City) ย่านเมืองเก่าที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชาวอินเดียเอาไว้

หมู่บ้านจันทาร์(Chandar Talai) หมู่บ้านโบราณที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำผ้ามัดย้อม

ทะเลทรายธาร์(Thar Desert) ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย

 

สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป ชอบเดินเล่นชมวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น การได้มายังเมืองจ๊อดปูร์(Jodpur) รับรองได้ว่าเมืองนี้จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

4. Jaisalmer(ไจชัลแมร์,ไจซาลเมอร์ หรือจัยซัลแมร์)  เมืองสีทองสีสันกลางทะเลทราย Thar 

 

นครสีทอง

5. Bikaner(ไบคาเนอร์,พิกาเนร์ หรือบิคาเนอร์) 

6. Pushkar(พุชการ์)

7. Chittorgarh(จิตตอร์การห์)

8. Ajmer(อัจเมอร์)

Visitors: 419,610